นโยบายการค้าของสหรัฐจากการขึ้นกำแพงภาษีทั่วโลกเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา สร้างผลกระทบสั่นสะเทือนต่อทั่วโลก ส่งผลให้โลกการเงิน “ปั่นป่วนหนัก” นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงหา “สินทรัพย์ปลอดภัย” (Safe Haven) เพิ่มขึ้น พร้อมชะลอการลงทุนในประเทศต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ “ประเทศไทย” ที่อาจโดนผลกระทบจาก “ความไม่แน่นอน” จากนโยบายของทรัมป์ครั้งนี้
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวในงาน Media Briefing ว่า ยอมรับว่าจากผลกระทบต่อนโยบายการค้าโลกต่อเศรษฐกิจไทย จากมาตรการภาษี Tariff ของ “โดนัลล์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ ถือเป็นช็อกใหญ่ของโลก
รวมทั้งจะเป็นช็อกที่อยู่กับประเทศไทยและประเทศต่างๆ ยาวนาน และเป็นช็อกที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของเศรษฐกิจ และมีผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายช่องทาง
ธปท.มองว่าผลกระทบจากมาตรการภาษี Tariff ครั้งนี้ยังไม่จบ แต่เพิ่งเริ่มต้น และจะเริ่มเห็นผลกระทบจากช็อกทยอยเข้ามากระทบอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้
โดยเฉพาะจาก Negative supple shock ทำให้เงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัวลง ช็อกถัดมาคือ ช็อกผ่านตลาดการเงินโลก ที่ราคาสินทรัพย์ผันผวนหนัก และเกิดการตึงตัวของภาวะการเงินในประเทศ ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผ่านผลกระทบที่ทำให้เกิด sectoral export shock การส่งออกและการค้าโลกที่ชะลอลง และกระทบต่ออุปสงค์ของโลกชะลอตัว หรือเกิด Global demand shock ซึ่งทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกมีแนวโน้มลดลง
ในด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หรือการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ธปท. มองว่าจากผลกระทบที่ใหญ่ และยาวนาน และมีผลกระทบลึกต่อหลายภาคส่วนโดยเฉพาะ “ภาคการส่งออก” ที่มีการส่งออกไปสหรัฐค่อนข้างมาก รวมถึงผลกระทบที่ส่งผ่านมาสู่ด้านต่างๆ
ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2568 ต่ำลงกว่าระดับ 2.5% จากที่ประเมินไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา จากประมาณการเดิมที่ 2.9%
ถึงแม้ครั้งนี้ยังไม่ใช่การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย แต่มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมากกว่าคาดไว้
ทั้งนี้ ต้องรอดูตัวเลขประมาณการใหม่ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ในการประชุม กนง.ครั้งถัดไป โดยครั้งนั้นจะมีการปรับตัวเลขทั้ง จีดีพี , ส่งออก และเงินเฟ้อลดลงด้วย จากผลกระทบจากมาตรการภาษี Tariff
อ่านข่าวต่อได้ที่ https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1176370