นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่ามีเสียงขอความช่วยเหลือระหว่างที่เจ้าหน้าที่ค้นหาในโซนบี เมื่อคืนที่ผ่านมา (2 เม.ย.)
การกู้ภัยและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มจากแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. เข้าสู่วันที่ 7 แล้ว โดยปฏิบัติการได้เข้าสู่ระยะการใช้เครื่องจักรหนักเพื่อเปิดหน้างาน ควบคู่ไปกับการใช้เจ้าหน้าที่และเรดาร์ค้นหาสัญญาณชีพรวมทั้งสุนัขกู้ภัย K9 เพื่อยืนยันผู้ประสบภัย ในรูปแบบ “ค้นหา” สลับกับการ “รื้อถอน” ล่าสุด ตรวจพบเสียงตอบกลับและสัญญาณชีพระหว่างการค้นหาในคืนที่ผ่านมา
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงช่วงเช้าวันนี้ (3 เม.ย.) ถึงความคืบหน้าการกู้ภัยซากตึก สตง.ถล่มว่า ทีมกู้ภัยตรวจพบเสียงตอบกลับและสัญญาณชีพเบา ๆ ที่อาจเป็นของผู้รอดชีวิตในซากตึกถล่ม และสั่งให้มีการหยุดใช้เครื่องมือหนักชั่วคราวเพื่อเดินหน้าการกู้ชีพ
จนกระทั่งถึงเวลา 11.00 น. วันนี้ (3 เม.ย.) เจ้าหน้าที่ยังค้นหาในจุดดังกล่าว
เครื่องจักรหนักทั้งรถแบคโฮร์ รถตัด-คีบ พร้อมด้วยเครนขนาดใหญ่ ได้เข้าดำเนินการรื้อถอน ตัดแยกชิ้นส่วนของซากอาคารที่ทับถมกันเทียบเท่าความสูงตึก 4-5 ชั้น เพื่อเร่งค้นหาผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร ตลอดทั้งตั้งแต่วานนี้ (2 เม.ย.) ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่แตกต่างจากการกู้ภัยในช่วง 5 วันแรก เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการร่วมกับการใช้อุปกรณ์กู้ภัย ตัด เจาะ เพื่อเข้าถึงตัวผู้ประสบภัย โดยหลังจากสามารถเปิดพื้นที่ออกทีละชั้น เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปสำรวจเพื่อค้นหาผู้สูญหายที่เหลืออยู่ 72 คนก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จะยังไม่มีการยุติปฎิบัติการค้นหาชีวิต แต่เป็นการใช้เครื่องมือหนักเข้าไปปฏิบัติการเพิ่มขึ้น ในรูปแบบของการรื้อที่หนักขึ้น แต่ระหว่างการรื้อก็คอยมอนิเตอร์การช่วยชีวิตคู่ขนาดกันไป
ณ เวลา 8.00 น. วันนี้ (3 เม.ย.) กรุงเทพมหานคร ระบุตัวเลขของผู้สูญหายจากเหตุอาคาร สตง. ถล่มอยู่ที่ 72 ราย เสียชีวิต 15 ราย และรอดชีวิต 9 ราย
ชัชชาติเผยพบสัญญาณผู้รอดชีวิต
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงช่วงเช้าวันนี้ (3 เม.ย.) ถึงความคืบหน้าการกู้ภัยซากตึก สตง. ถล่มว่า ทีมกู้ภัยตรวจพบเสียงตอบกลับและสัญญาณชีพเบา ๆ ที่อาจเป็นของผู้รอดชีวิตในซากตึกถล่ม และสั่งให้มีการหยุดใช้เครื่องมือหนักชั่วคราวเพื่อเดินหน้าการกู้ชีพ
ทั้งนี้เมื่อคืนที่ผ่านมา (2 เม.ย.) กู้ภัยได้ใช้เครื่องมือหนักเพื่อรื้อซากอาคาร และเปิดโพรงให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเดินสำรวจหาผู้รอดชีวิต หลังจากที่เมื่อวานนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ได้เปิดเผยถึงการปรับยุทธวิธีเริ่มใช้เครื่องมือหนักในพื้นที่
หลังจากทีมกู้ชีพเข้าทำการสำรวจพื้นที่มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งตะโกนว่า ได้ยินเสียงตอบกลับจากในซากอาคาร
“อาสาจากกู้ภัยก็ตะโกนแล้วได้ยินเสียงตอบกลับมาเบา ๆ ก็ไม่เชื่อ ก็ให้เพื่อนอีกคนเข้าไป ก็ได้ยินเหมือนกัน เป็นเสียงเบา ๆ กลับมา เสียงนี้เข้าใจว่าเป็นเสียงผู้หญิง จากนั้นก็ยังไม่เชื่อ ก็เอาตัวสแกนเรียกทีมมาสแกนก็พบคล้าย ๆ ว่ามีร่องรอยของร่างกายอยู่… เมื่อวานทีมประเมินกันแล้ว มันก็ยังเป็นความหวังเล็ก ๆ ที่อาจมีผู้รอดชีวิตอยู่” นายชัชชาติ กล่าวพร้อมระบุว่า หลังการตรวจสอบได้ดำเนินการกู้ภัยในทันที
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงความท้าทายในการเข้าถึงจุดพิกัดดังกล่าว ซึ่งระบุว่าเป็นบริเวณทางหนีไฟไว้ว่า มีคอนกรีต 3 แผ่น หนักประมาณ 60 ตัน บังทางเข้าอยู่ จึงต้องมีการใช้เครนช่วยยกตลอดทั้งคืนจนทำสำเร็จเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยต้องมีการหยุดใช้เครื่องมือหนัก เนื่องจากเครื่องมืออาจทำให้เกิดความสั่นไหวและเกิดอัตรายก่อเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสียงดังรบกวน
“มัน [เครื่องมือหนัก] จะมีเสียงดัง ทำให้บางทีเราได้ยินเสียง ‘ช่วยด้วย’ แบบนี้ [เรา] ไม่ได้ยิน ดังนั้นมันต้องมีความเงียบ” นายชัชชาติ กล่าวเสริม
หลังจากการหยุดใช้เครื่องมือหนักจึงเริ่มปฎิบัติการใช้มือขุด ทั้งนี้คาดการณ์ความลึกก่อนถึงจุดสัญญาณชีพอยู่ที่ประมาณ 3 เมตร และแม้สัญญาณชีพยังอยู่ในลักษณะที่เบาและไม่ชัดเจนมากนัก แต่ทางกู้ภัยได้มีการเตรียมทีมและรถพยาบาลรองรับหากเจอผู้รอดชีวิต
นายชัชชาติกล่าวเสริมด้วยว่า ยังมีจุดอื่น ๆ ที่หน่วยสุนัขกู้ภัย K9 ตรวจเจอสัญญาณชีพเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยย้ำว่าทางทีมกู้ภัยได้ดำเนินการมาถูกทาง
“ผมเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้วนะ ที่เราทำ อย่างน้อยที่เราพยายามทำเอาของหนักออกเดินหน้าเข้า ผมว่ามันมาถูกทางเชื่อว่ามันก็สร้างกำลังใจให้กับทีมงานขึ้นระดับหนึ่ง”
ผู้ว่าฯ กทม. บอกด้วยว่า ตนไม่อยากให้สิ่งนี้เป็นการให้ความหวังมากเกินไป เพียงแต่รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง “ก็ไม่ได้บอกว่าเจอผู้รอดชีวิตนะ ไม่ได้บอก แค่มันคิดว่าเราก็มาถูกทางแล้ว มันอาจจะไม่ได้เร็วเหมือนคนที่คาดหวัง แต่ทุกอย่างมันต้องไปชิ้นต่อชิ้น” พร้อมบอกอีกด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่ประมาณ 40-50 ราย เตรียมผลัดกันดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
“มีความหวังเล็ก ๆ ที่ทำให้เราก้าวต่อไปได้” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว ว่าการค้นพบสัญญาณชีพครั้งนี้เป็นแรงกำลังใจให้ทีมกู้ภัยทั้งจากประเทศไทยและนานาชาติดำเนินการกันต่อไปอย่างเต็มที่
4 ปัจจัยที่ทำให้การกู้ภัยกู้ชีพตึก สตง. ถล่ม ทำได้ยาก
จากปฏิบัติการที่ล่วงเข้าสู่วันที่ 7 นับตั้งแต่เกิดเหตุ มีเสียงวิจารณ์ถึงความล่าช้าและวิธีการค้นหา บีบีซีไทยรวบรวมความยากและอุปสรรคของการปฏิบัติงาน และคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้
ติดตามข่าวสารฉบับเต็มได้ที่ https://www.bbc.com/thai/articles