หอการค้าไทย จับมือ มูลนิธิ SOS ส่งต่ออาหาร 5 ล้านมื้อสำเร็จในปี 2567

หอการค้าไทย ร่วมกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ฉลองความสำเร็จในการดำเนินโครงการส่งต่ออาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัย จำนวน 5 ล้านมื้อ จากภาคการผลิตสู่ผู้ขาดแคลนทั่วประเทศภายในปี 2567 ขยายต่อภายในปี 2568-2569 บรรลุเป้าหมาย 9 ล้านมื้อ

วันที่ 8 ตุลาคม 2567 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายหลังการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยจากผู้ประกอบการอาหารสู่ผู้ขาดแคลนอาหาร ร่วมกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ในปี 2565 เพื่อร่วมกันคัดสรรอาหารที่มีความปลอดภัยส่งมอบให้กับชุมชนที่ขาดแคลนอาหารทั่วประเทศ… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/economy/news-1670043

ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้เปราะบางในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของระบบอาหาร

ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสมาชิกเครือข่าย อาทิ บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด, บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน), บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน), บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน),

บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน), บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด, บริษัท กริฟฟิทท์ ฟู้ดส์ จำกัด, บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จํากัด, บริษัท แลคตาซอย จำกัด และบริษัท ดริ๊งค์มี ฟู้ด แอนด์ เบเวอเรจ จำกัด เป็นต้น ได้ส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยไปยังชุมชนต่าง ๆ มากกว่า 5 ล้านมื้อแล้ว

ซึ่งการส่งมอบอาหารส่วนเกินไม่เพียงแต่ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนอาหารหรือกลุ่มเปราะบาง แต่ยังสร้างแรงกระเพื่อมทางสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันการลดปริมาณอาหารที่ต้องกำจัด ยังสามารถช่วยลดปริมาณ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการกำจัดอาหารได้มากกว่า 3,011,904.76 กิโลกรัม และเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change อีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของประเทศไทย และแนวทาง ESG (Environment-Social-Governance) ผ่านกิจกรรมส่งเสริม Food Waste ตลอดจนการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า ความร่วมมือโครงการดังกล่าว ประสบความสำเร็จส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยครบเป้าหมาย 5 ล้านมื้อใน 2567 นี้

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือในครั้งนี้สามารถสะท้อนและสรุปเป็นแนวคิด 4S อันได้แก่ 1.SHARING Together การแบ่งปันอาหารส่วนเกินสู่ผู้ขาดแคลน 2.STRONG Cooperation การผนึกกำลังความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 3.SAVE our Environment การร่วมกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

และ 4. SUSTAINABILITY of the Food Supply Chain เพื่อความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อาหาร ซึ่งช่วยให้สมาชิกของหอการค้าไทยสามารถร่วมกันสร้างความยั่งยืน ทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต มีความตั้งใจที่จะร่วมขับเคลื่อนดำเนินการส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยไปยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 9 ล้านมื้อ ภายในปี 2568-2569 จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการทั่วประเทศ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบริจาคและส่งต่ออาหารส่วนเกินจากผู้ผลิตเพื่อเป็นมื้ออาหารสู่ชุมชนเปราะบางที่ขาดแคลน

โดยดำเนินการผ่านระบบ Cloud Food Bank (ธนาคารอาหารออนไลน์แห่งแรกของประเทศไทย) ได้ที่เว็บไซต์หอการค้าไทย